พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี
เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๔๗
มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ" ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า
นภาลัย และที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) และทรงเป็นพระราชนัดดา
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สถาปนา
พระบรมราชจักรีวงศ์และสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๗ ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา ๒๗ พรรษา ระหว่างทรงอยู่ในสมณเพศ
ได้สนพระราชหฤทัยศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏในพงศาวดารว่า
ได้เป็นเปรียญ ในพุทธศักราช ๒๓๙๔ ได้ทรงลาผนวชเนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่
ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ ตรงกับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๙๔
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามตามที่เฉลิมพระบรมนามาภิไธย
จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวร
กระษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช
บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาวิชาการแขนงต่าง ๆ
ทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวิทยาการสมัยใหม่ของอารยชาติตะวันตก
มาตั้งแต่ครั้งทรงผนวช ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ บาลี สันสกฤต คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการเมือง
ในต่างประเทศ ฯลฯ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระบรมราโชบายในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย
หลายด้าน ทรงเปิดประเทศให้สามารถมั่นคงดำรงเอกราชอยู่ได้ในภาวะที่อิทธิพลของจักรวรรดินิยม
ตะวันตกเริ่มแผ่เข้าสู่ภูมิภาคตะวันออก ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับ
ราชสำนักและพระมหากษัตริย์ อาทิ ประเพณีสวมเสื้อเข้าเฝ้า ฯ การชักธงประจำพระองค์และธงชาติ
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวต่างประเทศปฏิบัติตามธรรมเนียมของชาติตนโดยยืนเฝ้า ฯ ได้
ในท้องพระโรง โปรดให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์และได้พระราชทานตอบแทนแก่ชาวต่างประเทศ
นอกจากนี้ ทรงปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรให้เข้ากับกาลสมัย เช่น โปรดเกล้า ฯ
ให้ราษฎรได้เฝ้าแหนใกล้ชิดและสามารถทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา โดยพระองค์เสด็จออกรับฎีกาทุกวันโกน
รวมเดือนละ 4 ครั้ง ทรงริเริ่มประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงร่วมเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และสาบานว่า
จะซื่อสัตย์ต่อพสกนิกรของพระองค์แทนประเพณีเดิมที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งพระมหากษัตริย์ประทับ
เป็นประธาน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถือน้ำกระทำสัตย์แต่ฝ่ายเดียว
ในด้านกฎหมาย ได้มีพระบรมราชโองการ หรือ ประกาศ กฎหมายต่าง ๆ ออกมา
เป็นจำนวนมากเพื่อความผาสุก และให้ความเป็นธรรมแก่อาณาประชาราษฎร์ อาทิ การลดภาษีอากร
ลดหย่อนค่านา ยกเลิกการเก็บอากรตลาด เปลี่ยนเป็นเก็บภาษีโรงร้านเรือนแพจากผู้ค้าขายรายใหม่
ประกาศมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา ออกพระราชบัญญัติกำหนดใช้ค่าที่ดินให้ราษฎรเมื่อมีการเวนคืน
ออกประกาศเตือนราษฎรให้รอบคอบในการทำนิติกรรม และที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ทรงออกกฎหมาย
กำหนดลักษณะของผู้ที่จะถูกขายเป็นทาสให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกกฎหมายเดิมที่ให้
สิทธิบิดา มารดา และสามีในการขายบุตรและภรรยา และตราพระราชบัญญัติใหม่ให้การซื้อขายทาส
เป็นไปด้วยความยินยอมของเจ้าตัวที่จะถูกขายเป็นทาสเท่านั้น
ในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ได้ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก
โดยยึดหลักการประนีประนอมด้วยวิถีทางการทูต ได้ทรงทำสัญญาทางไมตรีและการค้าในลักษณะใหม่
กับอังกฤษเป็นชาติแรก คือ สนธิสัญญาเบาริ่ง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๘ และกับชาติอื่น ๆ ในลักษณะ
เดียวกันในเวลาต่อมา
ในด้านเศรษฐกิจการค้า ได้โปรดให้ยกเลิกระบบการค้าแบบผูกขาดของทางราชการไทย
แต่เดิม และแบบบรรณาการกับจีน พระองค์ได้มีพระราชดำริปรับปรุงระบบเงินตราของไทยให้ได้
มาตรฐาน โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นเพื่อผลิตเหรียญเงินขนาดต่าง ๆ ใช้แทนเงินพดด้วง
ประกาศพิกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเพื่อช่วยให้การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าได้คล่องและเป็นสากลขึ้น
ในด้านการทหาร ได้โปรดให้มีการจัดระเบียบทหารใหม่ และมีการฝึกทหาร
ตามแบบอย่างตะวันตก ตลอดจนได้โปรดให้มีตำรวจนครบาลขึ้นเป็นครั้งแรก
ในด้านการพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำนุบำรุง
และบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นอย่างมากทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ วัด ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ
ทรงส่งสมณทูต ไปลังกา ทรงกวดขันความประพฤติของภิกษุ สามเณร ให้อยู่ในพระธรรมวินัย
ตลอดจนได้ทรงนำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งเดิมจัดตามพิธี
พราหมณ์เพียงอย่างเดียว เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีโสกันต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้พระราชทานเสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชนและได้
พระราชทานที่ดินแก่ศาสนิกชนคริสเตียนเพื่อสร้างโบสถ์ อีกทั้งโปรดให้สร้างวัดถวายเป็นราชพลี
แก่พระญวณนิกายมหายาน
ในด้านการศึกษาศิลปวิทยา ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน รวมทั้งทางด้าน
ดาราศาสตร์ กล่าวได้ว่าเทียบเท่านักดาราศาสตร์สากล ทรงสามารถคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวง
ในพุทธศักราช ๒๔๑๑ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์นานาชาติ
ส่วนการศึกษาของอาณาประชาราษฎร์ พระองค์ได้ทรงพัฒนาการศึกษาทั้งของข้าราชสำนัก
และประชาชนทั่วไป ทรงใส่พระทัยกวดขันคนไทยให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทรงสนับสนุนโรงเรียน
ของหมอสอนศาสนาที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษา อรรถคดี
และวิทยาการของชาติตะวันตก โปรดให้จ้างครูสตรีชาวอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรส
ธิดาและสตรีในราชสำนัก และยังได้ทรงพระกรุณาส่งข้าราชการระดับบริหารไปศึกษางานที่จำเป็น
สำหรับราชการไทย ณ ต่างประเทศ นอกจากนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งโรงพิมพ์หลวง
ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๑ เรียกว่า "โรงอักษรพิมพการ" ทำหน้าที่ผลิต
ข่าวสารของทางราชการเพื่อเผยแพร่ให้ราษฎรได้ทราบทั่วถึงกัน โดยเริ่มพิมพ์หมายประกาศต่าง ๆ
มีลักษณะอย่างหนังสือพิมพ์ข่าว ใช้ชื่อว่า "ราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งยังคงมีอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
โดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา คือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา ๑๗ ปี ๖ เดือน
เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑
พระชนมพรรษา ๖๕ พรรษา มีพระราชโอรส ๓๙ พระองค์ และพระราชธิดา ๔๓ พระองค์