ความหมายของราชกิจจานุเบกษา ประเภท ก-ง |
คำถาม จาก คุณ nok [ ตั้งคำถามวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ ] |
คำตอบ |
ด้วยปัจจุบันระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประกาศเรื่องใน ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นไป ได้กำหนดให้ราชกิจจานุเบกษาแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยประเภท ข และ ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อไปจากเดิม ดังนี้ ๑. ประเภท ก ฉบับกฤษฎีกา เป็นการประกาศเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระบรมราชโองการที่เป็นกฎ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่ง ของหน่วยงานหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอนุบัญญัติ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด และเรื่องสำคัญที่ประชาชนทั่วไปควรได้รับทราบ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษา ของศาลปกครองอันถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ ๒. ประเภท ข ฉบับทะเบียนฐานันดร หมายกำหนดการ และข่าวใน พระราชสำนัก เป็นการประกาศเกี่ยวกับสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ รายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญราชการ หรือยศ รายชื่อผู้ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือถูกถอดยศ และรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราต่างประเทศ หมายกำหนดการพระราชพิธี ต่าง ๆ และข่าวในพระราชสำนัก ๓. ประเภท ค ฉบับทะเบียนการค้า เป็นการประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด การเปลี่ยนแปลง และการเพิกถอนทางทะเบียน ๔. ประเภท ง ฉบับประกาศและงานทั่วไป เป็นการประกาศเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุในประเภท ก ประเภท ข และประเภท ค จาก กลุ่มงานราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๕ |
![]() |